ศึกษาคริสตจักรเมืองเปอร์กามัม วันที่ 29 .. 2020

โดย เยาวลักษณ์  ลิ่วเฉลิมวงศ์

เยาวลักษณ์ ลิ่วเฉลิมวงศ์

ถ้อยคำถึงคริสตจักรเมืองเปอร์กามัม

12“จงเขียนถึงทูตสวรรค์ของคริสตจักรที่เมืองเปอร์กามัมว่า ‘พระองค์ผู้ทรงถือดาบสองคมที่คมกริบตรัสดังนี้ว่า

13“เรารู้จักที่อยู่ของเจ้า ที่ซึ่งเป็นบัลลังก์ของซาตาน ถึงกระนั้นเจ้าก็ยึดมั่นในนามของเรา และไม่ปฏิเสธความเชื่อในเรา แม้ในเวลาที่อันทีพาสพยานผู้ซื่อสัตย์ของเราต้องถูกฆ่าท่ามกลางพวกเจ้า ในที่ซึ่งซาตานอยู่นั้น 14แต่เรามีข้อที่จะต่อว่าเจ้าสองสามข้อ คือเจ้ามีบางคนที่ยึดถือคำสอนของบาลาอัมอยู่ที่นั่น ผู้ซึ่งสอนบาลาคให้วางสิ่งสะดุดต่อหน้าพวกอิสราเอล คือให้พวกเขากินอาหารที่บูชารูปเคารพและล่วงประเวณี 15เช่นเดียวกันเจ้าก็มีคนที่ยึดถือคำสอนของพวกนิโคเลาส์ด้วย 16เพราะฉะนั้นจงกลับใจใหม่ มิฉะนั้นเราจะมาหาเจ้าโดยเร็ว และจะต่อสู้กับพวกเขาด้วยดาบในปากของเรา 17ใครมีหูก็ให้ฟังข้อความที่พระวิญญาณตรัสกับคริสตจักรทั้งหลาย เราจะให้มานาที่ซ่อนอยู่แก่คนที่ชนะ และจะให้หินขาวแก่เขาด้วย และบนหินนั้นจะมีชื่อใหม่จารึกไว้ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากผู้ที่ได้รับ” 

1. ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และข้อมูลเพิ่มเติม

ขึ้นไปทางตอนเหนือของคริสตจักรเมืองเอเฟซัสและสเมอร์นาคือคริสตจักรเมืองเปอร์กามัม   คริสตจักรเมืองเปอร์กามัมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นเอเชีย และอยู่ห่างชายฝั่งทะเลอีเจี้ยนเข้าไปราว 26 กิโลเมตร(หรือราว 15 ไมล์)  ปัจจุบันคือคือเมืองเบอร์กามา (Bergama) ในประเทศตุรกี

เมืองเปอร์กามัมเป็นเมืองสำคัญของโรมในแคว้นเอเชียมาตั้งแต่ 133 ปีก่อน คศ. เป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญของการนมัสการซีซาร์ และมีวิหารที่มอบถวายให้กับโรมและออกัสตัสมาตั้งแต่ 29 ปีก่อน คศ.  

ในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษแรกหรือในยุคสมัยที่เขียนพระธรรมวิวรณ์  เมืองเปอร์การ์มัมเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของภูมิภาคและเป็นสถานที่พักอาศัยของสมุหเทศาภิบาลของโรมซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้   แม้ว่าเปอร์กามัมจะไม่ได้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่อะไรเนื่องจากอยู่ในดินแดนที่ห่างฝั่งทะเลอีเจี้ยนเข้ามา  แต่เปอร์กามัมก็ถือว่าเป็นเมืองที่ร่ำรวยทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาและวัฒนธรรม เปอร์กามัมมีมหาวิทยาลัยที่มีห้องสมุดขนาดใหญ่  ที่ว่ากันว่าภายในบรรจุม้วนแผ่นหนังไว้มากกว่า 200,000 ม้วน   นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาที่มีวิหารบูชาเทพเจ้า 4 แห่ง คือ วิหารซีอุส  ไดโอนีซุส  อาเธนา และที่สำคัญคือวิหารบูชาเทพเจ้าแอสเคลปีอัสที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปงู ที่ว่ากันว่ามีอำนาจในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ    

อย่างไรก็ตาม ลัทธิที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย คือลัทธินมัสการจักรพรรดิ  มีการบัญญัติกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นด้วยโดยระบุว่าใครก็ตามที่ไม่ยอมนมัสการจักรพรรดิให้ถือว่าเป็นพวกที่ทรยศและโทษของการละเมิดกฎหมายนี้ก็คือความตาย  คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้จะถูกบังคับให้ปฏิญาณตนสวามิภักดิ์ต่อซีซาร์  พวกเขาถูกบังคับให้ประกาศว่าซีซาร์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” (Κυριος Καισάρος)  แต่คริสเตียนกลับปฏิเสธและประกาศก้องว่าพระคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” (Χριστος Κυριος)  ช่วงเวลาเหล่านี้จึงเป็นเวลาที่ยากลำบากยิ่งสำหรับคริสเตียนที่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดแต่องค์เดียว

2. เปิดเผยพระคริสต์ว่าอย่างไรและมีความหมายอะไร

ข้อความที่ไปถึงคริสตจักรเมืองเปอร์กามัมเปิดเผยพระคริสต์ว่าพระองค์ผู้ทรงถือดาบสองคมที่คมกริบ” “ดาบ  ให้ความหมายถึง  สิทธิอำนาจในการพิพากษาของพระคริสต์  ดาบสองคมให้ความหมายถึง การวินิจฉัยที่เฉียบคมในการแยกแยะสิ่งที่ถูกและผิด   แม้เมืองนี้จะเป็นเมืองที่อาศัยของผู้ปกครองหรือสมุเทศาภิบาลของโรมที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้  แต่ข้อความที่เปิดเผยนั้นเล็งให้เห็นถึงอำนาจอธิปไตยสูงสุดของพระคริสต์ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาที่ทรงอำนาจยิ่งใหญ่กว่าผู้ปกครองคนใดทั้งสิ้น

รม.13:3-4เพราะว่าผู้ครอบครองนั้นไม่น่ากลัวเลยสำหรับคนที่ประพฤติดี แต่ว่าเป็นที่น่ากลัวสำหรับคนที่ประพฤติชั่ว ท่านไม่อยากจะกลัวผู้มีอำนาจหรือ? ถ้าอย่างนั้นก็จงทำแต่ความดี แล้วท่านก็จะได้เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจนั้น 4เพราะว่าผู้ครอบครองนั้น เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อให้ประโยชน์แก่ท่าน แต่ถ้าท่านทำความชั่วก็จงกลัวเถิด เพราะว่าผู้ครอบครองไม่ได้ถือดาบไว้เฉยๆ แต่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และจะเป็นผู้ลงโทษแทนพระเจ้าแก่ทุกคนที่ประพฤติชั่ว

3. คำชมเชย

พระคริสต์ทรงชมเชยคริสตจักรเมืองเปอร์กามัมถึงความซื่อสัตย์  ที่พวกเขาต้องเผชิญกับความกดดันให้ปฏิเสธความเชื่อในพระเยซูคริสต์  ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คริสตจักรเมืองเปอร์กามัมอยู่ในที่ เป็นศูนย์กลางของลัทธิการนมัสการจักรพรรดิและโทษของการไม่ยอมปฏิญาณตนว่าซีซาร์คือองค์พระผู้เป็นเจ้าคือต้องตาย  พระคัมภีร์ตอนนี้จึงกล่าวถึงคริสตจักรเปอร์กามัมว่าพวกเขาอยู่ในที่ซึ่งเป็นบัลลังก์ของซาตาน  แต่พวกเขายังตอบสนองต่อการถูกบีบคั้นด้วย

(1) ยึดมั่นในนามของพระองค์ และ

(2) ไม่ปฏิเสธความเชื่อในพระองค์

ข้อความตอนนี้กล่าวถึงอันที่พาสพยานผู้ซื่อสัตย์ต้องถูกฆ่าเพราะไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อที่มีในพระเยซูคริสต์  คำว่าพยานมาจากคำกรีกว่าμρτυς  และคำภาษาอังกฤษว่า มาเทอร์ “martyr” ที่แปลว่าพลีชีพ   ภายหลังถูกใช้เพื่ออ้างถึงผู้ที่พลีชีพเพื่อเป็นพยานถึงพระเยซู  คำว่าพยานนี้ใช้อีกครั้งในพระธรรมวิวรณ์ 17:6 กล่าวถึงบรรดาคนที่พลีชีพเพื่อเป็นพยานของพระเยซูด้วยเช่นเดียวกัน

และคำว่าพยานผู้ซื่อสัตย์เป็นคำเดียวกันที่กล่าวถึงพระเยซูคริสต์พยานผู้ซื่อสัตย์ใน วว.1:5  ที่ทรงซื่อสัตย์จนยอมสิ้นพระชนม์เช่นเดียวกัน

4. คำติเตียนและคำเตือน

คำติเตียน  ไม่ใช่ว่าคริสเตียนในคริสตจักรเมืองเปอร์กามัมจะมีความจงรักภักดีด้วยกันทุกคน  มีคำติเตียนคือ มีบางคนในคริสตจักรยึดถือคำสอนเท็จ โดยพูดถึงลักษณะคำสอนเท็จ 2 แบบ คือ

  (1) “คำสอนของบาลาอัม..คือให้พวกเขากินอาหารที่บูชารูปเคารพและล่วงประเวณี” (2:14) บาลาอัมเป็นต้นแบบของคนที่สนับสนุนให้เกิดการประนีประนอมกับคนนอกศาสนาโดยมีส่วนร่วมกับรูปเคารพและกระทำผิดศีลธรรม   เป็นไปได้ว่ามีคริสเตียนบางคนในคริสตจักรเมืองเปอร์กามัมกำลังทำแบบเดียวกับที่บาลาอัมทำต่ออิสราเอล  โดยแนะนำว่าการนมัสการจักรพรรดิเป็นหนทางที่ปลอดภัย พวกเขายังดำเนินชีวิตที่ไร้ศีลธรรมได้โดยบอกว่าเป็นหนทางไปสู่การเป็นมิตรกับพวกโรมันและรอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง   

    ส่วนปัญหาเรื่องการกินอาหารที่บูชารูปเคารพไม่ได้หมายถึงความบังเอิญที่คริสเตียนไปกินสิ่งที่เขาเอาไปบูชาที่วิหารของคนนอกศาสนาแล้วเอามาเลี้ยง  แต่เป็นการเจตนากินสิ่งที่เขานำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวิหารของคนนอกศาสนาซึ่งเท่ากับเป็นการมีส่วนร่วมกับการถือรูปเคารพและการทำผิดประเวณี   แม้ในพระคัมภีร์เดิมกล่าวถึงการนมัสการรูปเคารพไว้หลายครั้งว่าเป็นการเล่นชู้หรือการแพศยาต่อพระเจ้า (อสค.16:31-33)   แต่ในที่นี้มีความเป็นไปได้จริง ว่าพวกที่นมัสการในวิหารรูปเคารพจะมีพิธีกรรมบูชารูปเคารพและมีงานเลี้ยงที่มีการทำผิดศีลธรรมทางเพศควบคู่ไปด้วยกันจริง   เพราะสำหรับชาวกรีกและชาวโรมันนั้นเห็นว่าการปล่อยปละละเลยเรื่องเพศนั้นไม่ได้ถือเป็นบาปอะไรนักหนาสำหรับพวกเขา

    (2) คำสอนของพวกนิโคเลาส์   มีการกล่าวถึงพวกนิโคเลาส์ก่อนหน้านี้ในจดหมายถึงคริสตจักรเมืองเอเฟซัสใน 1:6 ว่าพระเยซูทรงเกลียดชังความประพฤติของพวกเขา  ลักษณะคำสอนของพวกเขาคือสอนให้ใช้เสรีภาพในพระคุณพระเจ้าในทางที่ผิดและให้ประนีประนอมกับการทำตามเนื้อหนัง   

มี 2 ทฤษฎีที่พยายามอธิบายเรื่องนี้คือ 

(1) นิโคเลาส์คนนี้คือคนเดียวกับนิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอกผู้เข้าจารีตศาสนายิวที่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะมัคนายก 7 คนที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้แจกจ่ายอาหาร  (กจ.6:5 – เนื่องจากมีคนยิวที่พูดกรีกร้องเรียนไปว่าไม่ได้รับแจกจ่ายอาหารอย่างเพียงพอ  และนิโคเลาส์คนนี้เป็นชาวต่างชาติที่มาเข้าจารีตยิวและพูดกรีก) เขามีพื้นเพเป็นคนต่างชาติที่กลับใจมาเข้าศาสนายิวและเป็นคริสเตียน เขาอาจตั้งลัทธินอกรีตขึ้นมาจากรากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่หนักแน่นนัก  

(2) เป็นไปได้ว่าพวกนิโคเลาส์คือกลุ่มลัทธินอกรีตที่เข้ามาในคริสตจักรแล้วก็ไปในช่วงแรกของการตั้งคริสตจักร   อย่างไรก็ตาม ในจดหมายถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดมีการกล่าวถึงพวกสอนผิดแบบเดียวกันนี้ 3 ครั้ง (ที่สอนให้ล่วงประเวณีและกินอาหารที่บูชารูปเคารพ) 

ในคำเตือนไปถึงคริสตจักรเมืองเอเฟซัส (2:6),  คำเตือนถึงคริสตจักรเมืองเปอร์กามัม (2:14-16) และคำเตือนถึงคริสตจักรเมืองธิยาธิราเรื่องที่ทนฟังเยเซเบล (2:20)    มีความเป็นไปได้อย่างมากที่คนสอนผิดเหล่านี้เป็นคนกลุ่มเดียวกันและอยู่ภายในคริสตจักรเอง ไม่ใช่คนภายนอกคริสตจักร  พวกเขาอ้างเสรีภาพในทางที่ผิดและสนับสนุนให้คริสเตียนประนีประนอมกับการทำบาป

คำตักเตือน พระเยซูคริสต์เตือนว่าจงกลับใจใหม่ มิฉะนั้นเราจะมาหาเจ้าโดยเร็ว และจะต่อสู้กับพวกเขาด้วยดาบในปากของเราพระองค์จะมาหาพวกเขาโดยเร็ว อาจจะไม่ได้หมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง แต่น่าจะหมายถึงการพิพากษาที่พระองค์จะนำมาต่อสู้พวกเขาในไม่ช้าหากพวกเขายังไม่กลับใจ  โดยจะทรงใช้ดาบในปากของพระองค์ซึ่งก็คือการทรงพิพากษาโทษพวกเขาตามมาตรฐานแห่งความชอบธรรมของพระวจนะของพระองค์นั่นเอง

5. คำสัญญาจะได้รางวัลอะไร

พระองค์สัญญาว่าคนที่ชนะ พระองค์จะประทานมานาที่ซ่อนอยู่และหินขาวที่บนหินนั้นจะมีชื่อใหม่ จารึกไว้ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากผู้ที่ได้รับ

มานา คือ อาหารที่พระเจ้าทรงประทานให้เพื่อเลี้ยงดูอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี   ในธรรมเนียมเรื่องเล่าของชาวยิวมีการบันทึกถึงมานาไหหนึ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหีบพันธสัญญา (อพย.16:33-35; ฮบ.9:4 ห้องนั้นมีแท่นทองคำสำหรับเผาเครื่องหอม และมีหีบพันธสัญญาหุ้มด้วยทองคำทุกด้าน ภายในนั้น มีโถทองคำบรรจุมานา มีไม้เท้าของอาโรนที่ออกดอกตูม และมีแผ่นศิลาจารึกพันธสัญญา )  ก่อนที่พระวิหารจะถูกทำลาย เยเรมีย์หรือทูตสวรรค์ได้ทำการซ่อนหีบพันธสัญญาเอาไว้  และหีบนี้ถูกเก็บรักษาไว้จนถึงยุคของพระเมสสิยาห์ 

เมื่อถึงยุคที่ว่านี้ มานาจะถูกนำมาเป็นอาหารสำหรับประชากรของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง   ยอห์นอาจจะใช้มานาที่ซ่อนอยู่เป็นคำเปรียบเปรยหมายถึงอาหารสำหรับประชากรของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งในการเข้าร่วมงานเลี้ยงของพระเมษโปดก

หินขาว เป็นผลผลิตทางการค้าในโลกโบราณที่ขุดได้ในเมืองเปอร์กามัม มีการนำมาใช้หลายรูปแบบ  เช่น

(1) ใช้ในศาลไต่สวนเพื่อนำมามอบให้คนที่ถูกไถ่สวนอย่างยุติธรรมและระบุว่าคนนั้นพ้นข้อกล่าวหาแล้ว 

(2) ใช้มอบให้กับคนที่ได้รับอิสรภาพจากการเป็นทาส  

(3) ใช้มอบให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน หรือ

(4) มอบให้แก่นักรบที่ได้รับชัยชนะ  

ความหมายของหินขาวในตอนนี้จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงชัยชนะในบั้นปลายที่ผู้นั้นได้รับสิทธิ์ในการเข้าสู่สวรรค์   และคำจารึกชื่อใหม่ในหินนั้นน่าจะหมายถึงว่า คนนั้นเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า

6. สัญลักษณ์และความหมายต่าง

บัลลังก์ของซาตานที่แห่งการปฏิเสธพระเจ้า และนมัสการมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้า

ดาบสองคมที่คมกริบสิทธิอำนาจในการพิพากษาของพระเจ้า

คำสอนของบาลาอัมคำสอนที่วางสิ่งสะดุดเพื่อล่อลวงให้อิสราเอลทำบาปเรื่องล่วงประเวณีและนับถือรูปเคารพ

พวกนิโคเลาส์พวกที่สอนให้ใช้เสรีภาพในทางที่ผิดและให้ประนีประนอมกับการทำตามเนื้อหนัง

มานาที่ซ่อนอยู่อาหารสวรรค์เตรียมไว้สำหรับผู้ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงของพระเมษโปดก

หินขาวสัญลักษณ์ของชัยชนะและการเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า

7. สรุปคำสอนและนำมาใช้สำหรับคริสตจักรปัจจุบัน

คริสตจักรเมืองเปอร์กามัมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร่ำรวย ทันสมัย  เป็นศูนย์กลางการศึกษาและศาสนา มีวิหารรูปเคารพมากมาย และอยู่ในที่แห่งการบีบคั้นความเชื่ออย่างรุนแรงให้พวกเขาปฏิเสธพระเจ้าและถูกบังคับให้นมัสการผู้ปกครอง(หรือซีซาร์)เป็นพระเจ้า  บรรยากาศต่าง เหล่านี้ไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตคริสเตียนมากนัก

 แต่อันทีพาสเป็นคนที่เป็นแบบอย่างแก่เราที่ยอมพลีชีพด้วยความเชื่อไม่ยอมปฏิเสธพระเจ้า  เขาเป็นบุคคลที่พระเยซูคริสต์ชมเชยว่าเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ซึ่งเราควรจะยืนหยัดในความเชื่อไว้ตามแบบอย่างของเขาแม้จะต้องสูญเสียสิ่งใด หรือแม้กระทั่งยอมพลีชีพก็ตาม

ในขณะเดียวกัน มีบางคนในคริสตจักรที่ประนีประนอมกับการทำผิดศีลธรรมหันไปเชื่อฟังคำสอนเท็จแบบเดียวกับที่บาลาอัมที่ล่อลวงให้อิสราเอลทำบาป  โดยชักชวนให้คนเหล่านั้นเข้าร่วมงานเลี้ยงในวิหารของรูปเคารพและทำบาปล่วงประเวณีตามแบบอย่างของคนไม่เชื่อ   นอกจากนี้ยังมีบางคนก็หันไปเชื่อฟังคำสอนเท็จที่บอกว่าเราประนีประนอมกับบาปและทำผิดศีลธรรมได้ได้โดยอ้างเสรีภาพในพระเยซูคริสต์แบบผิด    

ในท่ามกลางสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน คริสตจักรกำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายความเชื่อแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแข่งขันแบบทุนนิยมเสรี  การใช้เงินทุนเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่าง หรือแม้กระทั่งการให้คุณค่าทางสังคมที่เปลี่ยนไปจากมุมมองของพระเจ้า  

การให้คุณค่าความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างกันถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์   สังคมโลกยุคใหม่กำลังหยิบยื่นความสะดวกสบาย  รวดเร็วทันใจ  นำเสนอบริการที่ตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของคนให้มากที่สุดให้กับเรา  

สิ่งต่าง เหล่านี้ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่การนมัสการพระเจ้า  แต่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความพึงพอใจของมนุษย์   เราเองอาจต้องกลับมาฉุกคิดว่าบัลลังก์ของซาตานในยุคของเราอยู่ที่ไหน   อาจเป็นความพึงพอใจในการตอบสนองความต้องการของตัวเราเองที่ไม่ได้นมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริงหรือไม่  อาจเป็นการเชิญชวนให้เราประนีประนอมกับบาปและทำผิดศีลธรรมตามอย่างคนในโลกที่ไม่มีพระเจ้าหรือไม่ 

โลกนี้ให้คุณค่ากับผลประโยชน์ตอบแทน ความสุขและความพึงพอใจของตนเองมากกว่าสิ่งใด   โดยบอกว่า ไม่เป็นไร เรามีเสรีภาพ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เราก็ทำได้   

แต่แท้ที่จริงแล้ว พระเจ้าเกลียดชังความประพฤติผิดศีลธรรม และการประนีประนอมกับบาป (2:6) คนที่ประพฤติเช่นนั้นจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า

1คร.6:9-10ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าคนไม่ชอบธรรมจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า? อย่าหลงผิดเลย พวกที่ล่วงประเวณี พวกไหว้รูปเคารพ พวกผิดผัวผิดเมีย พวกโสเภณีชาย พวกรักร่วมเพศ 10พวกขโมย พวกที่โลภ พวกขี้เมา พวกชอบกล่าวร้าย พวกฉ้อโกง จะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า  

คริสเตียนจำเป็นต้องดำเนินชีวิตที่ชอบธรรมมีมาตรฐานความถูกต้องที่แตกต่างกับคนในโลก จำเป็นต้องสวนทางกับความบาป  จะประนีประนอมกับบาปตามอย่างคนในโลกที่ไม่รู้จักพระเจ้าไม่ได้   

เราควรรู้จักวินิจฉัยและแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นความบาปและสิ่งใดเป็นความชอบธรรมโดยเผชิญหน้ากับพระวจนะของพระเจ้าเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ที่ถือดาบสองคม   ตั้งใจฟังคำเตือนของพระเจ้าที่มาถึงเรา สำรวจตัวเองและกลับใจจากการประพฤติใด ที่เป็นการประนีประนอมกับบาป 

ขอพระเจ้าอวยพรท่าน ให้เราร่วมใจกันอธิษฐาน

สนใจติดต่อเรา

www.facebook.com/FORWARD.CH.TH

Email: actsministry2017@gmail.com

อ้างอิง:

1 จอห์น เอฟ วาลวูร์ด. แปลโดย ธนาภรณ์  ธรรมสุจริตกุล. วิวรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์ทีรันนัส (สำนักพิมพ์ จีพี), 2001.

2 เจ. เกลน มอริส. แปลโดย ดารณี ประดับชนานุรัตน์. คู่มือศึกษาพระคัมภีร์ใหม่ วิวรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงเรียนคริสตศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์, 2019.

3 Fausset’s Bible Dictionary, โปรแกรม  The Word.

4 พระคริสต์ธรรมคัมภีร์อมตธรรมร่วมสมัย ฉบับค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: องค์การอมตธรรม, 2011.

บทความก่อนหน้านี้(ตอนจบ)การอ่านพระคัมภีร์:เอสรา บทที่10:1-44
บทความถัดไปตอนที่ 2 การศึกษาพระธรรมวิวรณ์ บทที่ 4

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่