ศึกษาพระธรรมวิวรณ์ บทที่11:3-14 ความหมายของพยานทั้งสองและการประยุกต์ใช้ในชีวิตคริสเตียน วันที่ 5 มี.ค. 2020

โดย เยาวลักษณ์  ลิ่วเฉลิมวงศ์

เยาวลักษณ์ ลิ่วเฉลิมวงศ์

ลักษณะของพยานทั้งสอง

เรื่องราวของพยานทั้งสอง ในพระธรรมวิวรณ์ตอนนี้เป็นเหตุการณ์คั่นกลาง (วว.10:1 – 11:14) ระหว่างการพิพากษาขององค์พระผู้เป็นเจ้าในการเป่าแตรครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 และเป็นเหตุการณ์แทรกเรื่องของทูตสวรรค์และหนังสือม้วนเล็ก การวัดพระวิหาร และพยานทั้งสอง  

การตีความหมายเรื่องราวตอนนี้น่าจะเป็นไปในลักษณะการตีความหมายเชิงสัญลักษณ์ตามลักษณะทั่วไปที่พบในพระธรรมวิวรณ์ซึ่งนำเสนอสัญลักษณ์และตัวเลขที่มีความหมายมากกว่าจะเป็นการตีความหมายตามตัวอักษร

พยานทั้งสองถูกบรรยายว่าเป็น ต้นมะกอกเทศสองต้นและคันประทีปสองคัน (วว. 11:4พยานทั้งสองนั้นคือต้นมะกอกสองต้นและคันประทีปสองอันที่ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินโลก )  

ลักษณะของพยานทั้งสองที่ปรากฏในพระธรรมตอนนี้คือ

1) ได้รับฤทธานุภาพจากพระเจ้าให้ทำภารกิจเผยพระวจนะตลอด 1260 วัน (11:3)

1,260 วัน หรือสิบสองเดือน หรือ 3 ปีครึ่ง เป็นจำนวนที่เป็นครึ่งหนึ่งของ 7 ที่มีความหมายถึงความสมบูรณ์  จำนวนสามครึ่ง หมายถึง ความไม่สมบูรณ์ดี  หรือความชั่วร้าย  

ตัวเลขนี้กล่าวถึงอีกหลายครั้งใน

วว.11:2 คือช่วงเวลาที่ปล่อยให้คนต่างชาติแล้วเข้าเหยียบย่ำวิสุทธินคร   

วว.12:14  กล่าวถึงช่วงเวลาที่ลี้ภัยในถิ่นกันดารของหญิงที่หนีจากการไล่ตามของพญานาค  

วว.13:5  กล่าวถึงช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้สัตว์ร้ายนั้นใช้ปากพูดจาใหญ่โตและหมิ่นประมาทพระเจ้าและทรงอนุญาตให้มันใช้สิทธิอำนาจทำการ    และปรากฏในดาเนียลเมื่อกล่าวถึงวาระของการทำลายอำนาจของพระเจ้า

ดนล.7:25 ท่านจะพูดคำกล่าวร้ายองค์ผู้สูงสุด และจะข่มเหงบรรดาผู้บริสุทธิ์ขององค์ผู้สูงสุดนั้น และจะคิดเปลี่ยนแปลงวาระและธรรมบัญญัติต่างๆ และเขาทั้งหลายจะถูกมอบไว้ในมือของท่านตลอดหนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ และทำลายชนชาติบริสุทธิ์ (ดนล.12:7) ตลอดหนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ

2) แต่งตัวด้วยผ้ากระสอบ (11:3)

ผ้ากระสอบ เป็นผ้าหยาบสีเข้มทอจากขนแพะหรืออูฐ สวมเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์คร่ำครวญ

อมส.8:10 เราจะให้งานเลี้ยงของเจ้าทั้งหลายกลับเป็นการไว้ทุกข์และให้เสียงเพลงทั้งสิ้นของเจ้าเป็นเพลงคร่ำครวญ เราจะให้พวกเจ้าสวมผ้ากระสอบและโกนศีรษะกันทุกคน และเราจะทำให้เป็นเหมือนคนไว้ทุกข์ให้บุตรชายคนเดียวของเขา และวาระสุดท้ายก็จะให้เหมือนวันที่ขมขื่น”

บางครั้งเป็นการแสดงออกถึงความถ่อมใจลง สำนึกผิดต่อพระเจ้า (1พกษ.21:27, โยบ.16:15, ลก.10:13) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่มาเผยพระวจนะก่อนการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ก็สวมเสื้อผ้าทำด้วยขนอูฐ (มธ.3:4, มก.1:6)

3) อยู่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นพระเจ้าแห่งแผ่นดินโลก (11:4)

เช่นเดียวกับภาพของพยานทั้งสองใน ศคย.4 เป็นการเน้นว่าพยานทั้งสองปรนนิบัติหน้าที่ต่อพระพักตร์ของพระเจ้าโดยการเจิมของพระองค์หรือโดยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณ

ศคย.4:4,14 แล้วท่านจึงกล่าวว่า ‘ทั้งสองนี้คือผู้ที่ได้รับการเจิมเป็นผู้ยืนอยู่ข้างองค์เจ้านายของพิภพทั้งสิ้น’ 

4) มีฤทธิ์อำนาจในการทำลายศัตรูด้วยไฟเผาผลาญที่ออกจากปาก (11:5)

เป็นลักษณะเทียบได้กับเอลียาห์ที่ขอให้ไฟตกลงมาเผาผลาญทหารของอาหัสยาห์ (2พกษ.1:10,12)

5) มีสิทธิอำนาจที่จะปิดท้องฟ้าได้ เพื่อไม่ให้ฝนตกในระหว่างวันเหล่านั้นที่เขากำลังเผยพระวจนะ (11:6)

ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับเอลียาห์ที่มีสิทธิอำนาจปิดท้องฟ้าได้  1พกษ.17:1เอลียาห์ชาวทิชบีอาศัยอยู่ในกิเลอาด ได้ทูลอาหับว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ซึ่งข้าพระบาทปรนนิบัติ ทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด จะไม่มีน้ำค้างหรือฝนในปีเหล่านี้ฉันนั้น นอกจากตามคำของข้าพระบาท”   

เนื่องด้วยความแห้งแล้ง ไม่มีฝนหรือน้ำค้างเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการพิพากษาจากพระเจ้าเมื่ออิสราเอลทำบาป

1พกษ.8:35 “เมื่อฟ้าสวรรค์ปิดอยู่และไม่มีฝน เพราะเขาทั้งหลายได้ทำบาปต่อพระองค์ แล้วพวกเขาได้อธิษฐานต่อสถานที่นี้ และยอมรับพระนามของพระองค์ และหันกลับจากบาปของเขา เนื่องจากพระองค์ทรงลงโทษพวกเขา 

6) มีสิทธิอำนาจเหนือน้ำที่จะเปลี่ยนมันเป็นเลือดได้ (11:6)

ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับโมเสสที่ทำหมายสำคัญตามพระบัญชาของพระเจ้า โดยทำให้แม่น้ำไนล์กลายเป็นเลือด (อพย.7:20)

7) มีสิทธิอำนาจกระหน่ำแผ่นดินโลกด้วยภัยพิบัติทุกอย่างกี่ครั้งก็ได้ตามที่ต้องการ (11:6)

เช่นเดียวกับสิทธิอำนาจของพระเจ้าที่พระองค์ทรงสำแดงฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วยภัยพิบัติสิบประการในอียิปต์ (อพย.10)

พยานทั้งสอง คือ ต้นมะกอกเทศสองต้นและคันประทีปสองคัน เมื่อเทียบกับเรื่องราวของต้นมะกอกเทศสองต้นที่พบในพระคัมภีร์เดิมในเศคาริยาห์ 4:1-14 นั้นได้อธิบายไว้ว่าต้นมะกอก 2 ต้นหมายถึงผู้ที่ได้รับการเจิมและเป็นผู้ยืนอยู่ข้างองค์เจ้านายของพิภพทั้งสิ้น” (ศคย. 4:11-14)  

ส่วนคันประทีปนั้นเศคาริยาห์ใช้คำว่าเชิงตะเกียง  ยอห์นใช้คำว่าคันประทีปถึง 6 ครั้งใน 2 บทแรกของพระธรรมวิวรณ์ (วว. 1:12, 13, 20 (ข้อ 20 มี 2 ครั้ง), 2:1, 5) 

และแต่ละครั้งที่ยอห์นใช้คำนี้จะใช้อ้างอิงเพื่อหมายถึงคริสตจักร โดยทั่วไปมีการตีความหมายพยานทั้งสองแตกต่างกันออกไปหลายทัศนะ

แต่ทัศนะที่น่าจะมีน้ำหนักที่สุดน่าจะหมายถึง ผู้ที่จะเป็นพยานในวาระสุดท้ายของโลกซึ่งก็คือคริสตจักรของพระเยซูคริสต์   

มีสองบุคคลที่พระคัมภีร์ตอนนี้น่าจะอ้างอิงถึงพวกเขาคือ โมเสส และเอลียาห์  ผู้เผยพระวจนะทั้งสองปรากฏร่วมกับพระเยซูขณะที่พระองค์ทรงจำแลงพระกาย (มธ.17:3-4)

ทั้งสองเป็นบุคคลที่พระเจ้าประทานสิทธิอำนาจให้พวกเขาทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์คือปิดท้องฟ้าได้  เปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเลือดได้ และมีฤทธิ์บันดาลให้ภัยพิบัติต่าง กระหน่ำโลกกี่ครั้งก็ได้ 

พยานทั้งสองยืนหยัดเป็นพยานอย่างแข็งแรงในช่วงเวลา 1,260 วัน วว11:3 เราจะให้ฤทธานุภาพแก่พยานทั้งสองของเรา และทั้งสองจะเผยพระวจนะตลอดหนึ่งพันสองร้อยหกสิบวันโดยแต่งตัวด้วยผ้ากระสอบ  

โดยเป็นพยานให้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางบรรดาคนที่ไม่เชื่อ   เขามีฤทธิ์อำนาจเป็นพิเศษหมือนดังเอลียาห์ที่ได้ปกป้องความเชื่อที่ถูกต้องในขณะที่ชาวยิวรวมทั้งกษัตริย์หันไปทำบาปนมัสการรูปเคารพ   และเหมือนดังโมเสสที่ทำหมายสำคัญและได้ช่วยชนชาติอิสราเอลให้พ้นจากความเป็นทาส  

การเป็นพยานของพยานทั้งสองในครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเป็นพยานครั้งใหญ่ของโลก ระยะเวลาแห่งการเป็นพยานของพยานทั้งสองได้ถูกกำหนดไว้เป็นจำนวนเวลา 1,260 วัน

จำนวนเลขสองในความหมายของชาวตะวันออกน่าจะ หมายถึงกำลังอีกเท่าตัว  สองคนย่อมมีกำลังมากกว่าหนึ่งคน (ปญจ.4:9) 

ดังนั้นจำนวนเลขสองของพยานทั้งสองน่าจะชี้ให้เห็นถึงกำลังและความน่าเชื่อถือของคำพยานนั้น พยานสองคนย่อมเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความจริง

ฉธบ.17:6 ผู้ที่ถูกกล่าวโทษถึงตายนั้น ให้มีพยานสองหรือสามปาก จึงให้ปรับโทษถึงตายได้ ห้ามลงโทษใครถึงตายด้วยพยานปากเดียว 

เหตุการณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการเป็นพยาน

ภายหลังเมื่อพยานทั้งสองเสร็จสิ้นการเป็นพยานแล้วตามวาระที่กำหนด  ก็เกิดการสู้รบกันกับสัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากบาดาล  ผลการสู้รบปรากฏว่า

1) พยานทั้งสองพ่ายแพ้ต่อสัตว์ร้ายนั้น (วว11:7)

2) พยานทั้งสองจะถูกสัตว์ร้ายนั้นฆ่าตาย (วว11:7)

3) ศพของพยานทั้งสองจะถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการใส่อุโมงค์ (วว11:8-9)  

ลักษณะการทิ้งศพไว้บนแผ่นดินโดยไม่มีการนำศพเข้าใสในอุโมงค์นั้นถือว่าเป็นการประจานและไม่ให้เกียรติแก่ผู้ตาย  ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับลักษณะการสิ้นพระชนม์ที่กางเขนของพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ถูกประจานและถูกทำให้อับอาย   การตายเช่นนี้สะท้อนถึงการพลีชีพของคริสตจักรในวาระสุดท้ายเพื่อเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

ประยุกต์ใช้: คริสตจักรของพระเจ้าจะต้องทำหน้าที่เป็นพยานอย่างซื่อสัตย์จนวาระสุดท้าย  การพลีชีพเพื่อเป็นพยานสะท้อนถึงความเชื่อที่มีในพระเจ้าเช่นเดียวกับธรรมิกชนก่อนหน้าเราที่ยินดีตายเพราะความเชื่อ

วว.6:9-11 เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่ห้า ข้าพเจ้าก็เห็นดวงวิญญาณทั้งหลายที่ใต้แท่นบูชา ซึ่งเป็นวิญญาณของคนทั้งหลายที่ถูกฆ่าเพราะพระวจนะของพระเจ้าและเพราะคำพยานที่เขายึดถือนั้น 10เขาทั้งหลายร้องเสียงดังว่า “ข้าแต่องค์เจ้านาย ผู้บริสุทธิ์และสัตย์จริง อีกนานเท่าใดพระองค์จึงจะทรงพิพากษา และแก้แค้นต่อคนทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลกซึ่งหลั่งเลือดของเรา” 11แล้วพระองค์ประทานเสื้อคลุมสีขาวแก่พวกเขาแต่ละคน และทรงบอกให้พักต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง จนกว่าผู้ร่วมรับใช้และพี่น้องของเขาจะถูกฆ่าเหมือนอย่างพวกเขาครบจำนวน

 ศพของพยานทั้งสองนั้นถูกทิ้งไว้ที่ถนนในมหานครซึ่งอุปมาเรียกว่าเมืองโสโดมและเมืองอียิปต์อันเป็นเมืองซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาถูกตรึง  

เมืองโสโดม เป็นสัญลักษณ์แห่งสถานที่ หรือเมืองแห่งความผิดบาป ส่วนเมืองอียิปต์เป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ขมเหงชาวอิสราเอลให้ตกเป็นทาสของชาวอียิปต์   เมืองซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาถูกตรึงหมายถึงกรุงเยรูซาเล็ม   ทั้งโสโดมและอียิปต์เป็นสัญลักษณ์ของการทำบาปชั่วและการข่มเหงคนของพระเจ้า

ผู้คนจะเพ่งดูศพ ของพยานทั้งสองตลอดเวลาสามวันครึ่ง  คำว่า ศพτὰ πτώματα เป็นคำเอกพจน์ i ไม่ใช่พยานสองคน แสดงให้เห็นว่ามีความหมายเป็นสัญลักษณ์ซึ่งน่าจะหมายถึง คริสตจักร   

คนจากชนชาติต่างๆ เผ่าต่างๆ ภาษาต่างๆ และประชาชาติต่างๆพวกเขาน่าจะเป็นคนต่างชาติที่เหยียบย่ำวิสุทธนครใน วว11:2  ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่เชื่อ คนที่ปฏิเสธพระเจ้า และยินดีกับการตายของคริสเตียน    

คนเหล่านั้นจะมองดูศพเขา และไม่ยอมให้เอาศพไปในอุโมงค์เลย” (วว.11:9) เป็นลักษณะมองดูด้วยความดูหมิ่นดูแคลน   และจะยินดีด้วยเรื่องเขาทั้งสอง พวกเขาจะรื่นเริงและจะให้ของขวัญแก่กันและกัน” (วว.11:10)  เพราะคำที่พยานทั้งสองกล่าวนั้นเป็นคำพยานที่ได้ทรมานพวกเขา   

หลังจากการตายของพยานทั้งสองและศพถูกทิ้งให้ผ่านไปสามวันครึ่งแล้ว พยานทั้งสองก็เป็นขึ้นมากอีกครั้ง องค์พระผู้เป็นเจ้าก็โปรดให้พวกเขากลับเป็นขึ้นใหม่โดยประทานลมปราณจากพระเจ้าเข้าสู่ศพของเขา และเขาก็ลุกขึ้นยืน  (วว.11:11, อสค.37:10) 

การเป็นขึ้นมาของพยานทั้งสองทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างมากแก่คนทั้งหลายที่ได้เห็น (วว.11:11)   คนเหล่านั้นคือพวกศัตรูและต่อหน้าต่อตาพวกศัตรูนี่เอง  พยานทั้งสองได้ถูกรับขึ้นไปในหมู่เมฆตามเสียงดังจากสวรรค์กล่าวว่าจงขึ้นมาที่นี่เถิด” (วว.11:12)    และหลังจากนั้นก็เกิดภัยพิบัติขึ้น (วว.11:13)    

ประยุกต์ใช้: พระเจ้าทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือศัตรูของพระองค์   ความเจ็บปวดจากบาปและการถูกข่มเหงจะมีวาระสิ้นสุด   แม้อำนาจของศัตรูก็มีวันสิ้นสุด   พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือความตาย คริสเตียนจึงไม่จำเป็นต้องกลัวความตาย  เพราะเราจะกลับเป็นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อพระองค์เสด็จมา

เหตุการณ์แห่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลังการเป็นขึ้นมาของพยานทั้งสองและหลังการขึ้นสู่สวรรค์ของพวกเขาเป็นวิบัติที่สองที่แทรกอยู่ระหว่างการพิพากษาขององค์พระผู้เป็นเจ้าก่อนการเป่าแตรครั้งที่เจ็ด (วว.11:14เปรียบเทียบกับวว. 8:13)

ลักษณะของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นคือ (วว. 11:13)

1) เกิดแผ่นดินไหวใหญ่

2) เมืองนั้นก็ถล่มลง 1ใน10 ส่วน

3) มีคนตายเพราะแผ่นดินไหวนั้น 7,000 คน(อาจหมายถึงจำนวน 1ใน10 ส่วนในข้อ 2)

4) คนที่ยังเหลืออยู่นั้นมีความหวาดกลัวยิ่ง และได้ถวายเกียรติแต่พระเจ้าแห่งสวรรค์  พวกเขาอาจจะไม่ได้กลับใจใหม่ แต่การถวายเกียรติแด่พระเจ้าแห่งสวรรค์

แสดงให้เห็นว่าตอนนี้พวกเขาได้ยอมรับสิทธิอำนาจการปกครองของพระองค์แล้ว เป็นผลมาจากการเป็นพยานของพยานทั้งสอง

ขอพระเจ้าอวยพรท่าน ให้เราร่วมใจกันอธิษฐาน

สนใจติดต่อเรา

www.facebook.com/FORWARD.CH.TH

Email: actsministry2017@gmail.com

รายการอ้างอิง

1 เจ. เกลน มอริส. แปลโดย ดารณี ประดับชนานุรัตน์. คู่มือศึกษาพระคัมภีร์ใหม่ วิวรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงเรียนคริสตศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์, 2019, หน้า 154-155.
2 พระคริสต์ธรรมคัมภีร์อมตธรรมร่วมสมัย ฉบับค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: องค์การอมตธรรม, 2011, หน้า 2573.
  พระคริสต์ธรรมคัมภีร์อมตธรรมร่วมสมัย ฉบับอธิบาย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: องค์การอมตธรรม, 2013, หน้า 956-957.
บทความก่อนหน้านี้ตอนที่ 2 การศึกษาพระธรรมวิวรณ์ บทที่ 4
บทความถัดไปตอนที่ 4 การศึกษาพระธรรมวิวรณ์บทที่ 12-13

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่